แพลตฟอร์มการพัฒนาทุกช่วงวัย SoSafe

แพลตฟอร์มการพัฒนาทุกช่วงวัย SoSafe

“ทุกเพศ ทุกวัย ปลอดภัย ทุกคน”

ภายใต้ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ประเด็นสังคม

แพลตฟอร์ม SoSafe มาจากคำว่า Social Safe หรือ สังคมปลอดภัย เกิดขึ้นจากการศึกษาเพื่อนำนวัตกรรมสังคมและการทำงานกับเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นส่วนสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาและตอบสนองต่อข้อท้าทายของกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย โดยเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ด้านสิทธิสวัสดิการ การขอรับบริการเพื่อเข้าถึงสิทธิสุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ การลดความเสี่ยงจากความรุนแรงบนฐานเพศ เพื่อไปสู่การป้องกันกลุ่มสตรีและกลุ่มเปราะบางจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ 

แพลตฟอร์ม SoSafe เกิดจากการต่อยอดการทำงานระหว่าง กองทุนประชากรแห่งประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ UNFPA ร่วมกับกลุ่มนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเมือง ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อร่วมพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มพัฒนามนุษย์ทุกช่วงวัย (The Life Cycle Platform – SoSafe) โดยกรอบการพัฒนามนุษย์ทุกช่วงวัยเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ครอบคลุมตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์ และการเข้าสู่ภาวะสูงวัยในการใช้ชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพ และเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมทั้งให้ครอบคลุมผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจต่อกลุ่มประชากรแต่ละช่วงวัยที่มีความแตกต่างกัน โดยแพลตฟอร์ม SoSafe มีประเด็นที่ครอบคลุมการพัฒนาสตรีทั้งสามกลุ่มช่วงวัย คือ วัยรุ่นและเยาวชน สตรีวัยผู้ใหญ่ และสตรีสูงวัย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย กลุ่มวัยรุ่น (พ่อแม่วัยใส) กลุ่มสตรีพิการ กลุ่มเยาวชนเปราะบาง โดยเฉพาะเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ เยาวชนยากจนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แพลตฟอร์ม SoSafe ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนประชากรแห่งประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ UNFPA และองค์กรภาคี รวมทั้งส่วนราชการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนของจังหวัดนำร่องห้วงปีแรกใน 5 พื้นที่ ครอบคลุม จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดขอนแก่น และเทศบาลนครยะลา ในการทดลองใช้แพลตฟอร์มการพัฒนาตลอดทุกช่วงวัย “SoSafe” เพื่อถอดบทเรียนในฐานะพื้นที่ต้นแบบและส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มนี้ร่วมกัน เพื่ิอช่วยในการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อี่นของประเทศในระยะต่อไป

ประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ

เพื่อต่อยอดการทำงานแพลตฟอร์ม Traffy Fondue และบูรณาการทำงานประเด็นสังคมร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านสังคม สาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเตรียมต่อยอดให้ครอบคลุมประเด็นด้านสังคมอื่นๆ ต่อไป

– เป็นระบบการเชื่อมโยงการทำงานทั้งภายในและข้ามหน่วยงาน
– เป็นฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายสำหรับผู้บริหาร
– เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อต่อยอดการทำงานเชิงรุก

ประโยชน์สำหรับประชาชน

ได้รับการบริการและเข้าถึงข้อมูลสิทธิและสวัสดิการที่เกี่ยวข้องของประชาชนทุกวัย ลดทอนปัญหาการตีตราเมื่อขอรับบริการประเด็นด้านสังคม อาทิ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว/ชุมชน โดยการขอรับบริการผ่านแพลตฟอร์ม

– เพิ่มช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือ
– เข้าถึงข้อมูลคลังความรู้ที่ถูกต้อง 
– เตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบออนไลน์

ในช่วงนำร่องของโครงการ คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม SoSafe เมื่อต้องการแจ้งปัญหาสังคม

– ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
– ล่วงละเมิดทางเพศ
– ความรุนแรงในครอบครัว

แอดไลน์เพิ่มเพื่อน @SoSafe เพื่อแจ้งปัญหาและขอรับความช่วยเหลือ
พร้อมเข้าถึงข้อมูลสิทธิสุขภาพทางเพศ สวัสดิการ ประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้อง

เมื่อมีปัญหาเรายินดีช่วยเหลือ ทุกเพศ ทุกวัย ปลอดภัย ทุกคน

ศึกษาวิธีการใช้งาน So Safe

แผนดำเนินงาน 3 ระยะ ครอบคลุม ปี พ.ศ. 2566 – 2568

ระยะ 1 ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของผู้รับบริการ (Rights-holders) และหน่วยงานผู้ให้บริการ (Duty-bearers) ภายใต้ประเด็นสิทธิสุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และลดความรุนแรงบนฐานเพศในประเทศไทยเพื่อนำมาสู่ข้อมูลในการพัฒนาต้นแบบแฟลตฟอร์มการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย (Life Cycle Platform – SoSafe)

คัดเลือกและเรียนเชิญ 5 พื้นที่นำร่องของประเทศ โดยมีหน่วยงานสำคัญบนแพลตฟอร์ม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัด  ศูนย์บริการคนพิการ  ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (OSCC) โรงพยาบาล สถานพยาบาลภายใต้การกำกับดูแล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านสวัสดิการสังคม สาธารณสุขและพัฒนาชุมชนเป็นหลัก

ระยะ 2 ถอดบทเรียนและปรับปรุงการทำงานแพลตฟอร์ม โดยเน้นคุณลักษณะสําคัญสามประการของแพลตฟอร์ม ได้แก่ ความเรียบง่าย (Simplicity)  ความปลอดภัย (Safety) และการทํางานร่วมกัน (Synergy) ความเรียบง่ายเน้นการเข้าถึงองค์ความรู้ทางด้านสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และการลดความรุนแรงบนพื้นฐานทางเพศ ในรูปแบบคลังข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งการให้ความสําคัญกับกระบวนการทดสอบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่ามีความครอบคลุมและเป็นมิตรกับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยความปลอดภัยมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจด้านปัญหาความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพและการรักษาความเป็นส่วนตัวของเคสที่ขอรับการช่วยเหลือ โดยการทํางานร่วมกันในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากแนวทางการทํางานแบบกระจายอํานาจและระบบความเชื่อมโยงการทํางานเน้นขับเคลื่อนโดยพื้นที่

ระยะ 3 เสริมระบบการทํางานในพื้นที่นําร่องให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสําคัญจากการถอดบทเรียนเพื่อต่อยอดกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่อื่นๆ มีความสําคัญอย่างยิ่งในการสร้างรากฐานสําหรับการขยายผลร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางในอนาคตเพื่อนําไปสู่ความมุ่งมั่น และกระบวนการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล นอกจากนี้ยังเป็นเวทีสําหรับความร่วมมือต่อยอดในอนาคตกับภาคเอกชนและหน่วยงานเจ้าภาพระดับประเทศในสร้างความยั่งยืนในอนาคต

ภาพการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

ภาพการลงพื้นที่จังหวัดลำพูน

ภาพการลงพื้นที่จังหวัดพะเยา

ภาพการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

ภาพการลงพื้นที่จังหวัดยะลา

ปรับปรุงล่าสุด 20 ธันวาคม 2566